วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

หน้าที่สำคัญกว่าลมปาก


          ฤาษีผู้มีฤทธิ์ตนหนึ่งสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ดำน้ำลุยไฟได้ เช้ามืดวันหนึ่ง หลังจากออกจากฌานแล้วอยากจะหาเพื่อนคุยแก้เหงาบ้าง แต่ไม่รู้จะคุยกับใครดีเพราะไปชวนคุยมาหมดแล้ว พอดีพระอาทิตย์โผล่ยอดเขามาพอดี ได้เพื่อนคุยแล้วล่ะ ฤาษีคิดพร้อมเหาะลิ่วไปหาพระอาทิตย์ ถึงรัศมีจะร้อนแรงอย่างไรก็หาได้ระคายเคืองผิวพระฤาษีไม่ด้วยอำนาจฌาณของท่าน พอเข้าไปใกล้จึงถามว่า          
          “ท่านอาทิตย์ ท่านไม่เบื่อบ้างหรือไง ขึ้นแล้วตกๆทุกวันตรงตามเวลาด้วย”
          “เบื่อไม่ได้หรอกท่านฤาษี มันเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าอยู่แล้ว” พระอาทิตย์ตอบด้วยอารมณ์ดี
          “ท่านทำหน้าที่แข็งขัน ไม่เคยเบื่อหน่าย ไม่เคยเบี้ยวสักวัน พวกมนุษย์รู้สึกต่อท่านอย่างไร ท่านรู้ไหม” ฤาษีเริ่มเปลี่ยนเรื่อง
          “เออนั่นสิ แล้วมนุษย์รู้สึกอย่างไรกับข้าพเจ้ากันบ้าง ท่านก็เป็นมนุษย์ ลองเล่าให้ข้าฟ้งบ้างสิ”พระอาทิตย์ถามฤาษีบ้าง
          “เวลาท่านขึ้นไปอยู่กลางฟ้านะ คนที่กำลังเดินทางอยู่กลางแดดก็จะบ่นนินทาท่านว่าวันนี้ทำไมมันร้อนเปรี้ยงอย่างนี้ ร้อนจะตับแตกอยู่แล้ว อะไรทำนองนี้ แต่คนที่ซักผ้า กำลังตากผ้าอยู่ชอบและชมท่านนะว่าแดดดีจังเลย พระอาทิตย์เป็นใจ”
          แล้วคนที่ด่าข้าพเจ้านั้นเขาชังข้าพเจ้า และคนที่ชมข้าพเจ้านั้นเขาชอบข้าพเจ้าหรือไงกัน”พระอาทิตย์ชักสนุกในการคุย จึงย้อนถาม
          “ก็คงไม่ใช่มั้ง เพราะคนที่ด่าท่านไว้ วันหลังเขาไม่ได้ไปไหน นั่งนอนอยู่แต่ในบ้าน เขาก็มิได้บ่นหรือสนใจท่าน ท่านจะแผดแสงเปรี้ยงหรือผ่อนเย็นลงอย่างไรเขาไม่รับรู้ด้วย ส่วนผู้ที่เคยชมท่าน วันหลังท่านถูกเมฆบังหนาทึบจนไม่มีแดดให้เขาตากผ้า เขาก็บ่นเอากับท่านเหมือนกัน เอาแน่นอนไม่ได้หรอกท่าน”
          “มนุษย์เขาเป็นกันอย่างนี้หรือท่านฤาษี”
          “เป็นอย่างนี้แหละ อย่าว่าแต่ท่านเลย แม้ท่านวัสสุเทพเจ้าแห่งฝนก็โดนมนุษย์เขาเล่นงานเสมอ จนมีคนพูดกันว่าฝนตกก็แช่ง ฝนแล้งก็ด่า แล้วท่านไม่คิดเบี้ยวไม่ขึ้นสักวันหรือไร จะได้สั่งสอนมนุษย์ให้รู้สำนึกและระวังปากระวังคำเสียบ้าง” ฤาษีแหย่เพื่อดูท่าที
          พระอาทิตย์รีบตอบทันที “โอ๊ย ไม่ได้หรอกท่าน มันเป็นหน้าที่ มนุษย์เขาจะบ่นว่าหรือชมข้าพเจ้าอย่างไร ข้าพเจ้าไม่ได้ยินหรือสนใจด้วยหรอก ว่ากันตามสบายเถอะ ข้าพเจ้าไม่ได้ดิบดีหรือเดือดร้อนเพราะปากของพวกมนุษย์หรอก”
          ฤาษีนิ่งฟังอยู่ พระอาทิตย์เลยตัดบท “ขอบคุณท่านฤาษีมากนะที่มาชวนคุย วันหลังนิมนต์มาอีก”

          เรื่องนี้สื่อความได้ว่า :…
          คนที่ทำหน้าที่ใหญ่ๆและอยู่สูงย่อมถูกกระแสลมปากคนมากกว่าคนปกติ เหมือนดวงอาทิตย์ที่ลอยอยู่บนฟ้า เรื่องของปากคนเราห้ามเขาไม่ได้ การยกย่อง การสรรเสริญ และการนินทาว่าร้ายนั้นส่วนใหญ่เกิดจากความชอบ ความชังเป็นการส่วนตัว และเกิดจากผลประโยชน์เป็นใหญ่ ถ้าเราเอื้อประโยชน์ให้เขาได้ยิ่งให้มากจนจุใจเขา เขาก็จะยกย่องเราไม่ขาดปาก ทั้งที่เราเองก็อาจจะมีจุดด้อยให้เขาด่าอยู่ แต่เขาจะมองข้ามไปเสีย แต่หากเราเอื้อประโยชน์ตามที่เขาต้องการให้ไม่ได้ ต่อให้เราวิเศษดีแสนดีอย่างไร เขาก็จะหาเรื่องมาด่ามานินทาเราจนได้
          เรื่องของคนเป็นอย่างนี้ตลอดมา ท่านจึงสอนว่าให้หนักแน่นเข้าไว้ มั่นคงเข้าไว้ ไม่หวั่นไหวไปตามลมปาก ไม่นำมาเป็นอารมณ์ ไม่อย่างนั้นเราเองนั่นแหละจะไม่เป็นตัวของตัวเอง จะเป็นทุกข์ฟุ้งซ่านและนอนไม่หลับเพราะเก็บเอาคำคนอื่นมานั่งคิดนอนคิดให้เป็นกังวลตลอดเวลา ต้องทำตัวทำใจให้เหมือนดวงอาทิตย์ ย่อมสุขกายสบายใจแน่นอน.

Credit : จากหนังสือ กิ ดังได้สดับมา ของ พระธรรมกิตติวงศ์(ทองดี สุรเตโช)

วันอังคารที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2557

พระอุ้มผู้หญิง


          หลวงพ่อนิกายเซ็นรูปหนึ่ง มีชื่อเสียงทางสอนศิษย์ให้สำเร็จทางธรรมได้ยอดเยี่ยม จนมีผู้เคารพนับถือและยอมตนเป็นศิษย์กันมากมาย มีกระทาชายนายหนึ่งมาสมัครเป็นศิษย์ของหลวงพ่อ โดยขอบวชรับใช้ใกล้ชิดหลวงพ่อ หลวงพ่อก็อนุญาตด้วยเห็นแววฉลาดและตั้งใจจริง เขาดีใจมากที่ได้บวชสมใจ จึงยินดีรับใช้ใกล้ชิดหลวงพ่อ ปัดกวาดเช็ดถูกุฏิที่พัก จัดอาหาร ซักผ้าเครื่องนุ่งห่ม จัดน้ำร้อนน้ำชาถวาย หลวงพ่อไปไหนก็สะพายย่าม ถือร่ม และหอบหิ้วสิ่งของที่จำเป็นติดตามไปด้วยทุกครั้ง
          บวชได้หลายเดือนแล้ว เธอได้เรียนรู้การปฏิบัติตนตามระเบียบวินัยสงฆ์มหายานจากหลวงพ่อ ได้เรียนรู้การฝึกฝนจิตจากหลวงพ่อ และเมื่อหลวงพ่อเทศน์ให้คนอื่นฟัง เธอก็ได้ฟังด้วยเพราะนั่งปรนนิบัติอยู่ใกล้ๆ แต่เธอมีความรู้สึกว่าตนยังไม่บรรลุธรรมอะไร ทั้งที่ตั้งใจปฏิบัติและเห็นว่า ตนเป็นคนฉลาดสามารถฟังธรรม และปฏิบัติตามที่หลวงพ่อสอนได้ทุกอย่าง แต่ก็มิได้ท้อแท้อะไร ยังคงก้มหน้าก้มตาปรนนิบัติหลวงพ่อและปฏิบัติธรรมไปตามปกติ
          วันหนึ่งหลวงพ่อพาเธอไปธุระต่างเมือง พระหนุ่มสะพายสัมภาระตามหลวงพ่อตามไปด้วยเหมือนเคยในระหว่างทางต้องข้ามแม่น้ำตื้นๆแต่มีกระแสเชี่ยวกรากสายหนึ่ง ขณะที่กำลังลุยข้ามไปนั้น มีหญิงสาวคนหนึ่งลอยตามแม่น้ำมาพร้อมทั้งร้องให้ช่วยเพราะเธอว่ายน้ำไม่เป็น พระหนุ่มไม่สามารถช่วยได้เพราะแบกส้มภาระอยู่ ส่วนหลวงพ่อไม่ได้ถืออะไรจึงหยุดรอ อยู่กลางน้ำจนกระทั่งหญิงคนนั้นลอยมาถึง จึงอุ้มเธอขึ้นไปวางไว้ใต้ร่มไม้ต้นหนึ่ง รอดูจนเธอปลอดภัยดีแล้วจึงชวนศิษย์หนุ่มเดินทางต่อไป
          หลังจากไปกับหลวงพ่อและกลับมาแล้ว พระหนุ่มเริ่มมีอาการผิดปกติ ไม่ยิ้มแย้มแจ่มใสเหมือนเคย เข้าไปดูแลปรนนิบ้ติหลวงพ่อก็ไม่ค่อยสนิทใจ ทำไปอย่างเสียไม่ได้ และไม่กล้าสบตาหลวงพ่อตรงๆ เป็นอยู่อย่างนี้หลายวันจนหลวงพ่อจับอาการได้ จึงเรียกเข้าไปถาม
          “นี่เธอ เธอเป็นอะไรไปดูเหมือนจะไม่สบายใจบางอย่าง นับแต่กลับจากต่างเมืองมานี่เธอดูแปลกไปนะ เธอมีอะไรในใจหรือ”
          เมื่อถูกหลวงพ่อถามตรงๆตอนแรกเธอก็ได้แต่นั่งก้มหน้าไม่กล้าพูด แต่พอหลวงพ่อคาดคั้นเข้า จึงเงยหน้าขึ้นตอบสั่นๆว่า
          “หลวงพ่อครับ กระผมไม่สบายใจ เพราะวันนั้นผมเห็นหลวงพ่ออุ้มผู้หญิง ผมคิดว่าศีลของหลวงพ่อขาดไปแล้ว หลวงพ่อไม่บริสุทธิ์เพราะจับต้องกายหญิง ผมจึงคิดมาก ไม่อยากอยู่อีกต่อไปแล้ว”
          หลวงพ่อฟังเธอพูดจบก็ยิ้มๆ ยกถ้วยน้ำชาขึ้นจิบทีหนึ่ง วางถ้วยลงแล้วก็พูดกะเธอว่า
          “นี่เธอ ฉันน่ะวางผู้หญิงไว้ที่โคนต้นไม้นั้นมาตั้ง ๕ วันแล้ว แต่เธอยังอุ้มผู้หญิงคนนั้นอยู่อีกหรือนี่”
          พระหนุ่มได้ยินหลวงพ่อพูดดังนั้น ด้วยความเป็นคนฉลาดจึงคิดได้ทันทีว่า
          “เออจริงสินะ หลวงพ่ออุ้มผู้หญิงคนนั้นด้วยหมายช่วยชีวิตนาง เมื่อวางนางลงแล้วก็แล้วกันไป ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่เก็บเอามาใส่ใจ ไม่เก็บมาเป็นอารมณ์อีก ส่วนเราสิกลับนำเรื่องนี้มาเป็นอารมณ์ทำให้คิดมาก เท่ากับว่ายังยึดถือยังอุ้มเรื่องนี้ไว้ทำให้เกิดความกลัดกลุ้มไม่สบายใจอยู่ตั้งหลายวัน”
          พอเธอคิดได้อย่างนี้ก็ถอนความยึดมั่นถือมั่น
          ที่ภาษาทางศาสนารียกว่า อุปาทาน
          ออกไปจากความคิดเสียได้
          จิตของเธอก็ผ่องแผ้วและได้สำเร็จธรรมในที่สุด.

          เรื่องนี้สื่อความได้ว่า :…
คนเรานั้นชอบเก็บเอาเรื่องที่ไม่ค่อยเป็นเรื่อง
ชอบเอาเรื่องท่ล่วงเลยมาแล้ว
ชอบเอาเรื่องที่ยังไม่เกิดยังไม่มีมาคิด
แล้วก็กลุ้มใจไม่สบายใจ
อันที่จริง ความทุกข์ใจนั้นเกิดจากความยึดมั่นถือมั่น
ไม่ยอมปล่อยวาง ไม่ยอมให้อภัย
ยอมให้กันไม่ได้ ต้องเอาชนะให้ได้ เป็นต้น
เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วทำให้เครียด ทำให้กลุ้ม
ทำให้ร้อนใจร่ำไป เหมือนอุ้มไฟไว้ในอก เหมือนตกนรกอยู่คนเดียว
ถ้ารู้จักปล่อยวางเสียบ้าง ให้อภัยเป็นบ้าง
ยอมให้กันบ้าง ลดทิฐิ มานะลงบ้าง
ความกลัดกลุ้มสุมทรวง ความเคียดแค้นชิงชัง
หรือความเครียดก็จะ ดับมอดไป
มีแต่ความปลอดโปร่งโล่งใจ หายใจได้ทั่วท้อง
ไม่อึดอัดคับข้องอีกต่อไป
เหมือนท่อน้ำที่ตันด้วยขยะมูลฝอย ทำให้น้ำขังเน่าเหม็น หากทะลวงขยะออกไปได้ น้ำก็จะไหลสะดวก ไม่อุดตัน ไม่เน่าเหม็นอีกต่อไป แต่คนเราชอบเก็บขยะเน่าเหม็นไว้ในใจ ชอบแบกความคิด แบกศักดิ์ศรี แบกทิฐิมานะกันไว้จนเต็มอก จึงอารมณ์บูด จึงเครียด จึงกลัดกลุ้มกันอยู่ตลอดเวลา และไม่อาจเข้าถึงธรรมได้ ทั้งที่เป็นนักปฏิบัติธรรมตัวยง.

Credit : จากหนังสือ กิ ดังได้สดับมา ของ พระธรรมกิตติวงศ์(ทองดี สุรเตโช)

วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2557

น้ำผึ้งหยดเดียว

       ชายบ้านนอกคนหนึ่ง หาบน้ำผึ้งที่ใส่หม้อดินมาขายในตลาด มีคนเดินมาชนหาบของแก น้ำผึ้งจึงกระฉอกหกลงที่ถนน แกมิได้ว่าอะไร เดินขายเรื่อยไป พวกแมลงหวี่ได้กลิ่นน้ำผึ้งจึงบินมากินน้ำผึ้ง
        ฝ่ายแมวที่อยู่ในบ้านใกล้ๆจุดนั้น เห็นแมลงหวี่จับกลุ่มกินน้ำผึ้งอยู่ก็ออกมาไล่ตะปบแมลงหวี่
        สุนัขที่อยู่บ้านถัดไปเห็นแมวอยู่ที่ถนน จึงวิ่งออกจากบ้านมาไล่กัดแมว แมวรีบหนีเข้าบ้าน สุนัขก็ไล่เห่าแมวไปจนถึงบ้าน
         เจ้าของแมวเห็นสุนัขของคนข้างบ้านมาไล่กัดแมว จึงคว้าไม้ไล่ตีสุนัขด้วยความโกรธ สุนัขวิ่งไปทางตลาดเพื่อไปหาเจ้าของที่ขายของอยู่ในตลาด
         เจ้าของสุนัขเห็นเจ้าของแมวไล่ตีสุนัขของตนมา จึงออกมาต่อว่า
          เจ้าของแมวก็ด่าตอบหาว่าเลี้ยงสุนัขไม่ดี ให้มาเที่ยวเพ่นพ่านไล่กัดแมวของตน
         ลูกสาวเจ้าของสุนัขซึ่งนั่งขายของอยู่อีกด้านหนึ่ง จึงออกมาร่วมวงด้วย
        “พูดให้ดีนะ หมามันจะไปรู้เรื่องอะไร มันเห็นแมวที่เจ้าของมันดูแลไม่ดี มันก็คงนึกว่าเป็นแมวจรจัด จึงไล่ฟัดเอา”
        “เอ็งพูดให้ดีนะ ถือดีอย่างไรมาว่าแมวของฉันเป็นแมวจรจัด อีลูกพ่อแม่ไม่สั่งสอน” เจ้าของแมวโต้ทันควัน
        แม่ของเด็กทนไม่ไหวลุกออกจากแผงขายของตะโกนใส่หน้า
        “อ้าวๆ แกพูดได้อย่างไงว่าฉันไม่ได้สั่งสอนลูกฉัน อย่างนี้ต้องตบเสียให้เข็ด”
       “แน่จริงก็ตบซี” เจ้าของแมวท้า
        เท่านั้นแหละไม่รู้มือใครถึงหน้าก่อน ต่างตบตีกันเป็นพัลวัน ลามปามไปทำให้หาบและแผงขายของของแม่ค้าอีกหลายคนพลอยโดนเหยียบโดนชนไปด้วย เจ้าของหาบเจ้าของแผงที่โดนชนข้าวของพืชผักที่วางขายเสียหายเลยร่วมวงไพบูลย์ด้วย ตลาดร้านค้าในตอนนั้นกลายเป็นเวทีมวยย่อมๆขึ้นมาทันตาเห็น ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ไม่มีใครห้ามใครได้แล้ว
               น้ำผึ้งหยดเดียวแท้ๆ
               ไหงกลายเป็นอย่างนั้นไปได้ซิเอ้า ;
     เรื่องนี้สื่อความได้ว่า
          เรื่องหรือปัญหาที่เกิดขึ้นบางครั้งมาจากต้นตอเพียงเล็กน้อย
          โดยเฉพาะเรื่องทะเลาะกัน การถกเถียงกัน หรือการร้องขอความเป็นธรรม ด้วยการเดินขบวนบ้าง ด้วยการเขียนป้ายประท้วงบ้าง ด้วยการขึ้นเวทีปราศรัยบ้าง ถือเป็นแค่เริ่มต้นเท่านั้น ยังไม่ลามปามมากนัก
          หากคู่กรณีหรือผู้เกี่ยวข้อง ไม่ยอมมาพบมาพูดคุยกัน
        ไม่ยอมมาไกล่เกลี่ยเพื่อให้เรื่องยุติ
        หรือเอาแต่พูดจาตอบโต้ท้าทาย
        หรือคิดว่ามีจำนวนไม่มาก สามารถรับมือได้
        ด้วยเห็นว่าเป็นพวกไร้น้ำยา เป็นพวกน้อยกว่า
        หรือคิดว่ามีจำนวนไม่มากสามารถรับมือได้
        เรื่องก็อาจบานปลายลุกลามไปใหญ่
        กลายเป็นข้อพิพาทที่หาทางยุติไม่ได้
         และอาจกลายเป็นศึกกลางเมืองไปก็ได้
       ที่ถูกนั้นพึงหาทางประนีประนอนหาข้อยุติ
       และตกลงกันในทางที่เหมาะที่ควร
       จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด
        ผู้ที่มองข้ามความสำคัญในข้อนี้ต้องเสียที ต้องพบกับความปราชัยมามากต่อมากแล้ว เด็กๆเล่นกันแล้วทะเลาะกัน เป็นชนวนให้พ่อแม่ ผู้ปกครองทั้งสองฝ่ายทะเลาะกันก็มีอยู่ คนบ้านชิดติดกันต้องมาทะเลาะกันเพียงแค่กิ่งมะม่วงยื่นเข้าไปในเขตบ้านกันก็มีอยู่ และมีสังคมประเทศชาติในหลายๆแห่งต้องวุ่นวายเกิดความโกลาหล เกิดปะทะกันรุนแรง เสียหายไปทุกส่วนอยู่บ่อยๆก็เพราะเรื่องแบบน้ำผึ้งหยดเดียวนี่แหละ.

Credit : จากหนังสือ กิ ดังได้สดับมา ของ พระธรรมกิตติวงศ์(ทองดี สุรเตโช)

วันศุกร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557

เคล็ดวิชาฝึกศิษย์

         ในวัดมหายานแห่งหนึ่ง มีลูกศิษย์มาขออยู่ในสำนักศึกษาเล่าเรียนกันมากเพราะเป็นสำนักที่มีชื่อเสียง ศิษย์แต่ละคนต่างก็แข่งขันกันศึกษา เพื่อจะได้จบแล้วกลับไปภูมิลำเนาทำมาหากินต่อไป แต่มีศิษย์อยู่คนหนึ่งเรียนก็ไม่เก่งแถมยังดื้อรั้นชอบหนีไปเที่ยว เท่านั้นยังไม่พอยังทำตัวเป็นอันธพาลเกเรเที่ยวไปก่อเรื่องกับวัยรุ่นนอกสำนักถึงกับถูกจับไปโรงพักจนหลวงพ่อต้องไปประกันตัวเป็นประจำ
        “คราวหน้าเธออย่าทำอย่างนี้อีกนะ ทำให้หลวงพ่อต้องขึ้นโรงพักไปด้วย” หลวงพ่อเตือน
        “ครับ ผมจะไม่ทำอีก” เขารับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะ
        แต่ไม่นานก็ทำอย่างนั้นอีก จนเป็นที่เอือมระอาของศิษย์ทั้งหลาย แต่หลวงพ่อกลับดูแลใกล้ชิด ติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลา แถมสั่งศิษย์รุ่นพี่เป็นหูเป็นตาแนะนำตักเตือนด้วย
        นานเป็นปีที่ศิษย์ทั้งหลายอึดอัดคับข้องใจ วันหนึ่งเห็นหลวงพ่ออยู่ว่างๆ นั่งจิบน้ำชาอยู่ห้องโถงแบบสบายๆ จึงพากันเข้าไปหา กราบพร้อมกันแล้วเรียนถามว่า
        “หลวงพ่อครับ ทำไมไม่ไล่ศิษย์คนนั้นไปเสีย ทำให้เขาอย่างใกล้ชิด ส่วนพวกผมหลวงพ่อไม่ค่อยดูแลแนะนำเท่าไหร่เลย หลวงพ่อคิดอย่างไรหรือครับ”
        หลวงพ่อตอบว่า “ลูกทุกคนฟังนะ ที่หลวงพ่อไม่ค่อยดูแลเอาใจใส่พวกเธอนั้นเพราะพวกเธอเก่งกันแล้วทุกคน ขยันทุกคน มีความผิดชอบในการทำงาน เอาตัวรอดได้แล้ว จึงไม่ต้องจ้ำจี้จ้ำไชกันมาก”
         หลวงพ่อจิบน้ำชาเว้นวรรคนิดหนึ่งแล้วพูดต่อ
         “ส่วนเจ้าศิษย์ที่ทำให้หลวงพ่อและพวกเธอเดือดร้อนนั้น เขาน่าสงสารมากกว่าน่ารังเกียจ ยังไม่โต ยังพึ่งตัวเองไม่ได้ ยังรับผิดชอบตัวเองไม่เป็น ยังแยกแยะดีชั่วไม่ได้เหมือนพวกเธอ ถ้าหลวงพ่อไล่เขาออกไปเขาก็จะเอาตัวไม่รอด หรืออาจไปก่อเหตุก่อเรื่องถึงติดคุกติดตาราง หรือถูกฆ่าตายก็ได้ เมื่อเป็นอย่างนี้หลวงพ่อจึงต้องเลี้ยงเขาเอาไว้ใกล้ตัว ยังปล่อยไม่ได้ ค่อยอบรมฝึกฝนไป แม้จะนานหน่อยก็คงจะพอทำให้เขาโตทั้งตัวและสติปัญญาได้อยู่ดอก พวกเธอก็อย่ารังเกียจเขาเลย คิดว่าเขาเป็นคนป่วยเป็นคนด้อยปัญญาก็แล้วกัน ช่วยให้เขาหายป่วยให้เขาฉลาดได้บุญด้วยนะ”
          ศิษย์ทุกคนได้ฟังเหตุผลของหลวงพ่อ ต่างพากันซาบซึ้งในเมตตาธรรมของหลวงพ่ออย่างสุดหัวใจ หลวงพ่อรักและห่วงใยลูกทุกคน จึงลุกขึ้นกราบหลวงพ่อพร้อมกันแล้วรับปากหลวงพ่อว่า
ต่อไปจะไม่รังเกียจเพื่อนศิษย์คนนั้นอีก
        เรื่องนี้สื่อความได้ว่า
ครูที่มีจิตวิญญาณเป็นครูย่อมไม่ทิ้งศิษย์ที่ยังด้อยกว่าเพื่อน
ย่อมเอาใจใส่ศิษย์เช่นนั้นเป็นพิเศษ
ขวนขวายหาวิธีฝึกฝนให้เขาเรียนรู้วิชาและชีวิต
พอที่จะเอาตัวรอดได้ในอนาคต
บางครั้งถึงกับฝืนใจลงโทษเฆี่ยนตีก็จำยอม
ด้วยพิจารณาเห็นว่า คนเรานั้นแม้จะมีความแตกต่างกัน
ทั้งเสรีระร่างกายและสติปัญญา
ตลอดถึงภูมิต้านทานด้านคุณธรรมก็จริง
แต่ก็สามารถพัฒนาให้เจริญได้ในระดับหนึ่ง
       เรื่องเช่นนี้ ครูจึงพึงตระหนักรู้แล้วให้ความรักความห่วงใยแก่ศิษย์โดยเหมาะสม โดยเฉพาะคนที่มีปมด้านใดด้านหนึ่งน้อยกว่าเพื่อน ควรได้รับความห่วงใยและดูแลเป็นพิเศษ มิใช่ประณามดุด่าให้ได้อาย หรือขับไล่ไสส่งให้พ้นไปจากตัว เพราะนั่นมิใช่วิธีแก้ปัญหาให้เขา แต่เป็นการปัดสวะให้พ้นจากตัวเองไปเท่านั้น ความรัก ความเอ็นดู ความดูแลเอาใจใส่และการฝึกฝนแนะนำเขาเป็นพิเศษกว่าคนอื่นๆเท่านั้นจึงจะสามารถช่วยให้เขารอดตัวได้ มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่า ครูนั่นแหละที่ช่วยให้จำนวนอันธพาลตามท้องถนนหรือแหล่งมั่วสุมต่างๆเพิ่มขึ้นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์.

Credit : จากหนังสือ กิ ดังได้สดับมา ของ พระธรรมกิตติวงศ์(ทองดี สุรเตโช)

วันอังคารที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2557

ธรรมคุ้มครองโลก

ธรรม 2 ประการได้แก่
1. หิริ หิริ (อ่านว่า หิ-ริ, หิ-หริ) แปลว่า ความละอายแก่ใจ ความละอายต่อบาป หิริ หมายถึงความละอายใจตัวเองต่อการทำความชั่วความผิด ต่อการประพฤติทุจริตทั้งหลายและความละอายใจตัวเองที่จะละเว้นไม่ทำความดีซึ่งควรจะทำให้เกิดมีในตน เช่นบิดามารดามีความละอายใจที่จะไม่ดูแลบุตรของตน เช่นนี้เรียกว่ามีหิริ หิริ เกิดขึ้นได้ด้วยการคิดถึงการศึกษา ฐานะ ยศศักดิ์ ชาติตระกูลของตน คิดถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น รวมกับความแกล้วกล้าของจิตใจที่จะไม่ทำชั่วเช่นนั้น หิริ เป็นธรรมรักษาคุ้มครองโลก ทำให้โลกเกิดสันติ ทำให้คนเราอยู่กันอย่างสงบสุข เพราะคนที่มีหิริจะเกลียดความชั่ว และละอายที่จะทำความชั่วทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทำให้ไม่ก่อความเดือดร้อนให้แก่โลกและสรรพสัตว์ทั้งปวง
2. โอตตัปปะ โอตตัปปะ (อ่านว่า โอดตับปะ) แปลว่า ความเกรงกลัว หมายถึงความสะดุ้งกลัวต่อผลของความชั่ว ต่อผลของความทุจริตที่ทำไว้ โอตตัปปะ เป็นอาการของจิตที่หวั่นไหวเมื่อจะทำความชั่ว เพราะกลัวความผิดที่จะตามให้ผลในภายหลัง เกิดขึ้นได้เพราะคิดถึงโทษหรือความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นจากการทำชั่ว จากการประพฤติทุจริตของตน เช่น ตัวเองเองต้องเดือดร้อน เกิดความเสียหาย เสียทรัพย์สินเงินทอง เสียอิสรภาพ หรือถูกคนอื่นตำหนิติเตียน ถูกสังคมรังเกียจ เป็นต้น โอตตัปปะ เป็นธรรมคุ้มครองโลกคู่กับหิริ เพราะคนที่มีโอตตัปปะย่อมกลัวที่จะทำความผิด ทำให้งดเว้นจากการประพฤติต่างๆ ได้ อันเป็นเหตุให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข เกิดสันติภาพขึ้น

เครดิต : วิกิพีเดีย