วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ธรรมาธิปไตย


.....ธรรมาธิปไตย แปลว่า ความมีธรรมเป็นใหญ่

.....ธรรมาธิปไตย หมายถึงการยึดถือหลักการ หลักเหตุผล หลักความจริง ความถูกต้อง ความเป็นธรรมเป็นประมาณในการบริหารจัดการต่างๆ คือจะทำอะไรก็ยึดถือธรรมเป็นหลัก ละเว้นการยึดถือตนและกระแสเสียงคนส่วนใหญ่ที่ไม่ถูกธรรมไม่เป็นธรรม
.....ธรรมาธิปไตย เป็นเหตุให้เกิดความยุติธรรม เกิดความถูกต้อง แม้บางครั้งจะไม่ถูกใจแต่อำนวยประโยชน์ให้มากกว่าอัตตาธิปไตยและโลกาธิปไตย

.....การปกครองสงฆ์ใช้แนวธรรมาธิปไตยเป็นหลักมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล

จากหนังสือ : คำวัด พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.9 ราชบัณฑิต)

วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

บวชในช่วงเข้าพรรษา ดีอย่างไร

ความจริงแล้ว การบวชในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะบวชในฤดูกาลไหน หรือจะบวชช่วงสั้น – ช่วงยาว แค่ไหนก็ตาม มีวัตถุประสงค์ในการบวชเหมือนกัน คือ มุ่งที่จะกำจัดทุกข์ให้หมดไป แล้วทำพระนิพพานให้แจ้ง หรือพูดกันภาษาชาวบ้านว่า “มุ่งกำจัดกิเลสเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน” จะได้ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดกัน อีกอย่างไรก็ตาม เมื่อบวชแล้วถ้าได้ตั้งใจอย่างนี้ ทำตามวัตถุประสงค์ของการบวชอย่างนี้เต็มที่ ไม่ว่าบวชฤดูกาลไหนก็ได้บุญเท่าๆกันทั้งนั้น อันนี้โดยหลักการ แต่ในความเป็นจริง เนื่องจากผู้บวชยังเป็นผู้ที่เข้ามาสู่ศาสนากันใหม่ๆ และยังต้องการสภาพที่เหมาะสมพิเศษๆในการที่จะศึกษาธรรมะ, ในการที่จะขัดเกลาตนเองตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ถ้าได้บรรยากาศพิเศษๆ ก็จะช่วยให้การบรรลุวัตถุประสงค์ของการบวชนั้นง่ายขึ้นและดีขึ้น ปู่ย่าตาทวดของเราจึงได้เลือกแล้วว่า ฤดูเข้าพรรษาเป็นบรรยากาศพิเศษ เหมาะที่จะให้ลูกหลานของตนเข้ามาบวช

นับแต่สมัยปู่ย่าตาทวดของเรา นิยมให้บุตรหลานบวชเรียน ในช่วงเข้าพรรษา

ความพิเศษสำหรับการบวชในช่วงเข้าพรรษา

1. ดินฟ้าอากาศเป็นใจ กล่าวคือ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ประเทศไทยของเรานั้น ในฤดูร้อน สภาพอากาศร้อนเหลือหลาย ร้อนจนกระทั่งแม้ในทางโลก เด็กนักเรียนยังปิดเทอมกันภาคฤดูร้อน เนื่องจากในฤดูนี้ เรียนกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง อากาศมันร้อนหนัก ในทางธรรมก็เช่นกัน ถ้าจะให้พระใหม่มาเรียนหนังสือในฤดูร้อนคงย่ำแย่ ส่วนในฤดูหนาวก็เป็นในทำนองเดียวกัน คงจำกันได้ว่า สมัยเราเป็นเด็กๆไปโรงเรียนกันในฤดูหนาว ก็ยังต้องไปนั่งผิงไฟกันด้วยซ้ำ ไปนั่งงอก่องอขิงกัน บรรยากาศในการเรียนมันหย่อนๆไปเหมือนกัน ร้อนไปก็ไม่ดี หนาวไปก็ไม่ดี ฤดูที่ไม่หนาวไม่ร้อนจนเกินไป เห็นมีอยู่ฤดูเดียวสำหรับประเทศไทย คือ ฤดูฝน หรือ ฤดูเข้าพรรษา ดินฟ้าอากาศเหมาะแก่การศึกษาธรรมะ และการค้นคว้าธรรมะให้ยิ่งๆขึ้นไป
2. ครูบาอาจารย์พร้อม เนื่องจากพระภิกษุที่เป็นครูบาอาจารย์ ท่านถูกพระวินัยกำหนดแล้วว่า ห้ามไปไหน ต้องพักค้างอยู่ในวัดตลอดพรรษา ดังนั้น ครูบาอาจารย์จึงพร้อมหน้าพร้อมตามากที่สุดในฤดูเข้าพรรษา เพราะฉะนั้นถ้าใครมาเป็นลูกศิษย์ก็จะได้พบหน้าพระที่เป็นครูบาอาจารย์ทุกองค์ โอกาสที่จะได้รับการถ่ายทอดธรรมะจึงเต็มที่มากกว่าฤดูอื่น

ในช่วงเข้าพรรษา พระใหม่มีโอกาสศึกษาธรรมะ และปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่

3. เราถือเป็นค่านิยมกันแล้วว่า พระใหม่ควรจะบวชในฤดูเข้าพรรษา เพราะฉะนั้นต้องถือว่าฤดูนี้ ลูกศิษย์ คือ พระใหม่ ก็พร้อมหน้าเช่นกัน เมื่อเป็นอย่างนี้ ความคึกคักในการเรียนก็เกิดขึ้น
4. เมื่อลูกหลานมาบวช ญาติโยมเองก็เกิดความคึกคักเหมือนกันที่จะมาฟังเทศน์ด้วย กล่าวคือ บรรดาญาติโยมต่างก็พากันมาวัดด้วยความเป็นห่วงพระลูกพระหลานของตน เท่านั้นยังไม่พอ ยังนำข้าวปลาอาหารมาทำบุญมาเลี้ยงพระลูกพระหลาน แล้วก็เลยเลี้ยงกันไปทั้งวัดอีกด้วย อีกทั้งเมื่อถวายภัตตาหารแล้ว ถึงอย่างไรก็ต้องไปกราบพระซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ความคุ้นเคยระหว่างพระกับโยมในช่วงเข้าพรรษาก็มีมากขึ้น ญาติโยมจึงมีโอกาสที่จะได้ฟังเทศน์ฟังธรรมพร้อมๆกันไปด้วย พระลูกพระหลานก็เข้าห้องเรียนศึกษาธรรมะ โยมพ่อโยมแม่ก็ฟังเทศน์ในศาลา

ในช่วงเข้าพรรษา บรรดาญาติโยมจะพากันไปวัด ทำบุญกับพระลูกพระหลาน

เมื่อบรรยากาศแห่งความสมบูรณ์ในการประพฤติปฏิบัติธรรมมาพร้อมกันถึง 4 ประการ เช่นนี้ ฤดูเข้าพรรษาจึงนับว่าเป็นฤดูที่เหมาะสมต่อการเข้ามาบวชอย่างยิ่ง จึงเป็นธรรมเนียมกันมาทุกวันนี้ว่า บวชเข้าพรรษานั้น น่าบวชที่สุด เพราะว่าผู้บวชมีโอกาสได้บุญมากที่สุด กล่าวคือ ได้ศึกษาธรรมะอย่างเต็มที่, มีโอกาสที่จะโปรดโยมพ่อโยมแม่มากที่สุด เพราะถึงแม้ตัวเองเป็นพระใหม่ยังเทศน์ไม่ได้ แต่พระอาจารย์ในวัดก็จะช่วยเทศน์ให้ ทุกอย่างสมบูรณ์พูนสุขจริงๆ บวชเข้าพรรษาจึงมีทีท่าว่าได้บุญมากกว่าฤดูอื่น ด้วยประการฉะนี้
อ้างอิง: เรียบเรียงจาก รายการหลวงพ่อตอบปัญหา (ออกอากาศทาง DMC)
พระธรรมเทศนา โดย พระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

Credit : www.dhammakaya.net

วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

วันอัฐมีบูชา


วันนี้วันพระ 8 ค่ำ แต่มีความพิเศษกว่าวันอ่่ื่น เพราะเป็นวันอัฐมีบูชา 
คือ วันถวายพระเพลิงพุทธสรีระพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานได้ ๘ วัน คือหลังจากวันวิสาขบูชาแล้ว ๘ วัน

วันอัฐมีบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ซึ่งตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ หรือวันแรม ๘ ค่ำ แห่งเดือนวิสาขะ หรือ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ ในปีอธิกมาส เป็นที่น่าเสียดายว่า วันอัฐมีบูชานี้ ในเมืองไทยเรามักลืมเลือนกันไปแล้ว จะมีเพียงบางวัดเท่านั้น ที่จัดให้มีการประกอบกุศลพิธีในวันนี้ ฉะนั้นวันนี้ เรามาสั่งสมบุญ ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์กันเถิด จิตเลื่อมใสในพระพุทธเจ้ามีสุคติเป็นที่ไป

พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต

วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ออกบวชเพราะแม่ยายหูหนวก (กลฺยาณธมฺมชาตกํ)


๑. ออกบวชเพราะแม่ยายหูหนวก (กลฺยาณธมฺมชาตกํ) ๑๗๑

[๑๙๑] กลฺยาณธมฺโมติ  ยทา  ชนินฺท...
หิริยาปิ  สนฺโต  ธุรมาทิยนฺติฯ
[๑๙๒] สายํ  สมญฺญา  อิธ  มชฺช  ปตฺตา
กลฺยาณธมฺโมติ    ชนินฺท  โลเก
ตาหํ  สเมกฺขํ  อิธ  ปพฺพชิสฺสํ
น  หิ  มตฺถิ  ฉนฺโท  อิธ  กามโภเคติ

ความนำ
พระพุทธเจ้าทรงอาศัยพระนครสาวัตถี  ประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภแม่ยายหูหนวกคนหนึ่ง ได้ตรัสพระธรรมเทศนาคือคาถาที่ปรากฏ    ณ เบื้องต้น  

ปัจจุบันชาติ
มีเรื่องเล่ากันมาว่า ที่ในกรุงสาวัตถี มีชายคนหนึ่งเป็นชาวพุทธที่มีความศรัทธาเลื่อมใสต่อพระพุทธศาสนา ได้ถึงไตรสรณคมน์ มีปกติรักษาศีล ๕ วันหนึ่ง เขานำเภสัช ดอกไม้และของหอมไปวัดด้วยคิดว่า จักไปฟังธรรมในสำนักของพระพุทธเจ้า
ขณะที่เขาไปวัดอยู่นั้น เป็นเวลาเดียวกับที่แม่ยายได้ไปเยี่ยมภรรยาของเขา แม่ยายคนนี้นางเป็นคนหูตึง เมื่อพบหน้าลูกสาวหลังจากทานอาหารกับลูกสาวเสร็จแล้ว นางจึงถามลูกสาวว่า “ลูกเอ๋ย เจ้ายังรักใคร่กันดีกับผัวของเจ้าลูกหรือ ไม่ได้ทะเลาะเบาะแว้งกันเลยใช่ไหม?”
ลูกสาวได้ฟังแม่ถามด้วยความห่วงใยเช่นนั้นจึงตอบไปตามจริงเพื่อไม่ให้แม่ต้องห่วงใยว่า “แม่จ๋า แม่พูดอะไรอย่างนั้น ลูกเขยดี ๆ ของแม่คนนี้หาได้ยากเหลือเกิน คนแบบนี้         แม้หากไปบวชเป็นพระก็ต้องเป็นพระที่ดีหาได้ยากมาก”
แม่ได้ฟังลูกสาวกล่าวเช่นนั้นก็ตกใจเพราะความที่ตนเองเป็นคนหูไม่ค่อยจะดี        จึงเข้าใจผิดได้ยินไปว่า “ไปบวช” จึงตะโกนด้วยความตกใจว่า “อ้าว ทำไมผัวเอ็งถึงหนีไปบวชเสียเล่า” ชาวบ้านใกล้บ้านพอได้เสียงแม่ยายตะโกนเสียงดังว่าลูกเขยหนีไปบวชก็ลือกันต่อไปว่าเพื่อนของเราหนีไปบวชเสียแล้ว เท่านั้นเองก็เกิดข่าวลือไปทั่วเมืองว่าเขาหนีภรรยาไปบวช
ฝ่ายสามีนั้น เมื่อฟังเทศน์จากสำนักพระพุทธเจ้าจบแล้วก็เดินทางกลับบ้าน                 ในระหว่างทาง เขาได้พบชาวบ้านคนหนึ่งเดินสวนทางมา ชายคนนั้นจึงถามเขาทันทีว่า “เขาลือกันว่าตัวท่านหนีลูกเมียออกไปบวช นี่ท่านยังไม่ได้ไปบวชจริง ๆ ใช่ไหม ตอนนี้ ข่าวเขาว่า        ลูกเมียคนใช้ของท่านกำลังร้องห่มร้องไห้กันเต็มบ้านไปหมดแล้ว”
ทันใดนั้น เขาเกิดความคิดขึ้นมาทันทีว่า เรายังไม่ได้บวชเลย คนก็ไปลือกันว่าเราบวชแล้ว  เอาละ ข่าวเป็นมงคลเกิดขึ้นแก่เราแล้ว เราไม่ควรให้ข่าวดี ๆ แบบนี้ต้องกลายเป็นเรื่องที่ไม่จริง เราควรบวชจริง ๆ เสียที คิดดังนั้นแล้ว เขาจึงเดินทางกลับไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง
พระพุทธเจ้าเห็นเขาพึ่งจากไปชั่วครู่แล้วกลับมาเข้าเฝ้าใหม่จึงมีรับสั่งถามว่า “อุบาสกตัวท่านพึ่งกลับไปเมื่อครู่นี้เอง ทำไมจึงกลับมาอีก” เขาจึงกราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบแล้วทูลขอบวชทันที
เมื่อได้บรรพชาอุปสมบท ภิกษุใหม่ผู้ออกบวชเพราะคำเล่าลือก็เป็นผู้ปฎิบัติดีปฏิบัติชอบ ไม่นานนักก็ได้บรรลุอรหันต์ เรื่องราวของพระภิกษุรูปนี้เป็นที่เลื่องลือรู้กันไปทั่วในหมู่คณะสงฆ์ วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายจึงได้หยิบยกเอาเรื่องของท่านมาสนทนากัน 
          ในขณะนั้น พระบรมศาสดาได้เสด็จผ่านมาเมื่อทรงทราบเรื่องจึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องอย่างนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต”  จากนั้น จึงทรงนำเรื่องในอดีตชาติมาเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้

อดีตชาติเนื้อหาชาดก
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีเศรษฐีคนหนึ่งได้ไปเข้าเฝ้าพระราชา ในขณะนั้น แม่ยายได้มาเยี่ยมลูกสาว เรื่องทั้งหมดก็คล้ายกับเรื่องในปัจจุบันนี่เอง 
    ในขณะที่กลับจากเข้าเฝ้าพระราชา เศรษฐีได้พบชายคนหนึ่ง เขาจึงแจ้งข่าวลือให้ทราบว่า “เขาลือกันว่า ในขณะนี้ คนที่บ้านท่านกำลังร้องไห้ที่ท่านหนีออกไปบวช” 
เศรษฐีได้ฟังก็รู้สึกดีใจที่ได้ฟังข่าวที่เป็นมงคลเช่นนั้น จึงคิดที่จะทำข่าวลือให้กลายเป็นจริง คิดดังนั้นแล้ว เขาจึงกลับไปเข้าเฝ้าพระราชา เมื่อพระองค์รับสั่งถามที่เขากลับมาเฝ้าใหม่จึงกราบทูลให้ทราบว่า 
“ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทพ ทั้ง ๆ ที่ข้าพระองค์ยังเป็นฆราวาสอยู่แท้ ๆ คนก็ยังไปลือกันทั่วว่าบวช คนในเรือนก็ยังร้องไห้คร่ำครวญคิดว่าข้าพระองค์หนีไปบวชแล้วจริง ๆ                 ข้าพระองค์คิดว่าเรื่องอย่างนี้ไม่ควรให้ผ่านไป ข้าพระองค์จักบวชจริง ๆ ขอได้โปรดพระราชทานให้ข้าพระองค์ได้บวชด้วยเถิด” จากนั้น ได้ประกาศด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน
ในกาลใด บุคคลได้รับสมัญญาในโลกว่า
ผู้มีกัลยาณธรรม ในกาลนั้น 
นรชนผู้มีปัญญาไม่พึงทำตนให้เสื่อมจากสมญานั้นเสีย
สัตบุรุษทั้งหลายย่อมถือไว้ซึ่งธุระด้วยหิริ
 ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน
สมัญญาว่าผู้มีกัลยาณธรรมในโลกนี้
มาถึงข้าพระพุทธเจ้าแล้วในวันนี้
ข้าพระพุทธเจ้าเห็นสมัญญาอันนั้น
จึงได้บวชเสียในคราวนี้
ความพอใจในการบริโภค
ในโลกนี้ไม่ได้มีแก่ข้าพระองค์เลย

ความหมายของคาถา
เศรษฐีต้องการทูลอธิบายให้พระราชาทรงทราบ ดังนี้ “กัลยาณธัมม์ ก็คือการมีธรรมที่ดีงามมีศีล เป็นต้น เมื่อใครเขาทำการยกย่องข้าพระองค์ว่าเป็นผู้มีธรรม ก็ไม่พึงทำตนเองให้เป็นผู้เสื่อมจากธรรมนั้น พึงเป็นผู้มีหิริ คือความละอายแก่ใจที่เกิดขึ้นภายใน และโอตตัปปะคือความเกรงกลัวต่อบาปอันเกิดจากภายนอก ด้วยเหตุดังกล่าว ข้าพระองค์จึงไม่มีความพอใจด้วยกิเลสกามและวัตถุกามในโลกนี้”
ท่านเศรษฐีครั้นกราบทูลให้พระราชาทรงทราบดังนั้นแล้ว จึงกราบทูลขอพระบรมราชานุญาตบรรพชาออกไปบวชเป็นฤาษีอยู่ ณ ป่าหิมพานต์ทำฌานและอภิญญาให้บังเกิด                   เมื่อมรณภาพจากโลกนี้ไปแล้วได้ไปเกิดในพรหมโลก
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า “พระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็นอานนท์ในชาตินี้ ส่วนเศรษฐีกรุงพาราณสีในชาตินั้นได้กลับชาติมาเกิดเป็นเราตถาคตนั้นเอง”

สรุปสุภาษิตจากชาดกนี้ น้ำขึ้นให้รีบตัก

วิเคราะห์แนวคิดเชิงจริยธรรมอันเป็นหัวใจหลักในชาดกนี้
ชาดกนี้ต้องการแสดงให้เห็นว่า เวลาแห่งชีวิตในโลกนี้มีจำกัด ดังนั้น เมื่อมีโอกาสที่จะทำความดีก็ควรรีบเร่งทำตั้งแต่ยังมีกำลัง เป็นหนุ่ม ถ้าไปทำในตอนแก่จะทำได้ยากลำบาก เพราะความแก่มีแต่ความเสื่อมโทรมแห่งร่างกาย โรคภัยไข้เจ็บรุมล้อมมากมาย เหมือนกับที่อุบาสกในชาติปัจจุบันและท่านเศรษฐีในอดีตชาติได้กระทำด้วยการรีบออกบวชเพราะข่าวลือที่เป็นมงคล ตรงกับสุภาษิตไทยว่า น้ำขึ้นให้รีบตัก เพราะโอกาสจังหวะเวลาที่ดีงามไม่ได้มาถึงบ่อย ๆ ฯ

ข้อมูลจากเอกสาร : www.buddhism.rilc.ku.ac.th

วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ธรรมะวันวิสาขบูชา


ความหมาย
          วันวิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะหรือ เดือน ๖ เนื่องในโอกาสคล้ายวันพระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อ ๓ เหตุการณ์สำคัญ เวียนมาบรรจบในวันและเดือนเดียวกัน คือ วันเพ็ญเดือนวิสาขะ จึงถือว่าเป็นวันที่สำคัญของพระพุทธเจ้า

ความเป็นมา
พระพุทธเจ้าประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน อยู่ระหว่าง กรุงกบิลพัสดุ์ กับกรุงเทวทหะ แคว้นสักกะ (ปัจจุบันอยู่ในเมืองลุมมินเด ประเทศเนปาล) ในเช้าวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี
ต่อมาพระองค์ได้เสด็จออกผนวช และทรงบำเพ็ญเพียรอย่างหนัก จนได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ (ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองพุทธคยา แคว้นพิหาร ประเทศอินเดีย) เมื่อเช้ามืดวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี หลังจากตรัสรู้แล้วพระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ โปรดผู้ควรแนะนำสั่งสอนให้ได้บรรลุมรรคผล จนนับไม่ถ้วน และเสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย สิริรวมพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา
การถือปฏิบัติวันวิสาขบูชาในประเทศไทย
การประกอบพิธีวิสาขบูชาในเมืองไทย เริ่มทำมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะได้รับแบบอย่างมาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๔๒๐ พระเจ้าภาติกราช กษัตริย์แห่งลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่างมโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์แห่งลังกาในราชการต่อ ๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตามแม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่
ในสมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกา มีความสัมพันธ์กันทางด้านพระพุทธศาสนาอย่างใกล้ชิดมาก เพราะพระสงฆ์ชาวลังกาได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย ในหนังสือนางนพมาศ ได้กล่าวถึงบรรยากาศ การประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้พอสรุปใจความ ได้ว่า
“เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพารทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุกหมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟ แลดูสว่างไสวไปทั่วทั้งพระนคร เป็นการบูชา พระรัตนตรัยเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีลและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ครั้นตกเวลาตอนเย็น ก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ ตลอดจนช้าราชการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในเสด็จไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน ส่วนชาวสุโขทัยต่างชวนกันรักษาศีล ฟังพระเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่และคนพิการ บางพวกก็ชักชวนกันสละทรัพย์ซื้อสัตว์ ๔ เท้า ๒ เท้า และเต่า ปลา เพื่อไถ่ชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระโดยเชื่อว่าจะทำให้ตนอายุยืนยาวต่อไป”
ในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการประกอบพิธีวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟูการประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ ให้ปรากฏในแผ่นดินไทยต่อไป กับมีพระราชประสงค์จะให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุและอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศก โรคภัย และอุปัทวันตรายต่าง ๆ โดยทั่วหน้ากัน ฉะนั้นการประกอบพิธีวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
หลักธรรมสำคัญในวันวิสาขบูชา
๑. ความกตัญญู คือ ความรู้อุปการคุณที่มีผู้ทำไว้ก่อนเป็นคุณธรรมคู่กับ ความกตเวที คือ การตอบแทนอุปการคุณที่ผู้อื่นทำไว้นั้น ผู้ที่ทำอุปการคุณก่อนเรียกว่า “บุพการี” ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ถือว่าเป็นเครื่องหมายคนดี ส่งผลให้ครอบครัวและสังคมมีความสุขได้ เพราะบิดามารดาจะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำอุปการคุณให้ก่อน และบุตรธิดาก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำดีตอบแทน สำหรับครูอาจารย์ก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำอุปการคุณ คือ สอนศิลปวิทยาอย่างเต็มที่ และศิษย์ก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเอง ด้วยการตั้งใจเรียน และให้ความเคารพเป็นการตอบแทน
ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุพการีในฐานะที่ทรงสถาปนาพระพุทธศาสนา และทรงสอนทางพ้นทุกข์ให้แก่ผู้ควรแนะนำสั่งสอน จึงตอบแทนด้วยอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา กล่าวคือ การจัดกิจกรรมในวันวิสาขบูชาเป็นส่วนหนึ่งที่ชาวพุทธแสดงออก ซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ด้วยการทำนุบำรุงส่งเสริม พระพุทธศาสนา และประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อดำรงอายุพระพุทธศาสนาสืบไป
๒. อริยสัจ ๔อริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐ หมายถึง ความจริงที่ไม่ผันแปร เกิดมีได้แก่ทุกคน มี ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิต พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า มนุษย์ทุกคนมีทุกข์เหมือนกันทั้งทุกข์ขั้นพื้นฐานและทุกข์ เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ทุกข์ขั้นพื้นฐาน คือ ทุกข์ที่เกิดจากการเกิด การแก่และตาย ่วนทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน คือ ทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการไม่ได้ตามใจปรารถนา รวมทั้งทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้านต่าง ๆ
สมุทัย คือ เหตุแห่งปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ทั้งหมด ซึ่งเป็นปัญหาของชีวิตล้วนมีเหตุให้เกิด เหตุนั้น คือ ตัณหา อันได้แก่ ความอยากได้ต่าง ๆ ซึ่งประกอบไปด้วยความยึดมั่น
นิโรธ คือ การแก้ปัญหาได้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิต ทั้งหมดนั้นแก้ไขได้โดยการดับตัณหา คือ ความอยากให้หมดสิ้น
มรรค คือ ทางหรือวิธีแก้ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่าทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิตทั้งหมดที่สามารถแก้ไขได้นั้น ต้องแก้ไขตามมรรคมีองค์ ๘
๓. ความไม่ประมาท คือ การมีสติ ทุก “ขณะ” ทั้งคิด พูด ทำ ซึ่ง “สติ” คือ การระลึกรู้ทัน ที่คิด พูด และทำ ในภาคปฏิบัติ เพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน หมายถึง การระลึกรู้ทันการเคลื่อนไหวอิริยาบถ ๔ ทั้ง เดิน ยืน นั่ง นอน การฝึกให้เกิดสติ ทำได้โดยตั้งสติกำหนดการเคลื่อนไหวอิริยาบถ กล่าวคือ ระลึกรู้ทันทั้งในขณะ ยืน เดิน นั่งและนอน รวมทั้งระลึกรู้ทันในขณะพูดขณะคิด และขณะทำงานต่าง ๆ
วันวิสาขบูชา เวียนมาบรรจบอีกครั้ง ขอเชิญพุทธศาสนิกชนทุกท่าน ร่วมปฏิบัติบูชา ด้วยการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา พร้อมกันทั่วโลก และเป็นกัลยาณมิตรเชิญชวนบุคคลอันเป็นที่รักสร้างบุญกุศล เป็นการดำเนินรอยตามวิถีการค้นพบสันติภาพภายใน คือ พระนิพพาน เฉกเช่น พระพุทธเจ้า เทอญ
- วุฑฒิวงศ์ -
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙ )

credit : kalyanamitra.org

วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

แกงลิ้น


          ชายคนหนึ่งเข้าไปหาหลวงพ่อที่ตนเคารพนับถือ แจ้งความประสงค์ขอคาถาที่จะบันดาลให้เกิดโชคลาภสักบทหนึ่ง
          “หลวงพ่อครับ ผมยากจนเหลือเกิน ทำอะไรก็ไม่ดีขึ้น อยากได้คาถาไปภาวนาให้โชคลาภสักบทหนึ่ง ขอหลวงพ่อได้โปรดอนุเคราะห์ด้วย”
          หลวงพ่อมองเขาแล้วนั่งนึกอยู่พักหนึ่งแล้วตอบเขาไปว่า
          “คุณเอ๋ย คาถาอย่างนั้นน่ะดีอยู่หรอกนะ แต่ถ้าจะให้ดีต้องทำตามด้วยช่วยคาถา จะทำได้ไหมล่ะ”
          “ได้ซิครับหลวงพ่อ บอกมาเถิดครับว่าจะให้ทำอย่างไร” เขารีบตอบรับ
          “คาถามีว่า อุ. อา. ก. ส. มี ๔ คำเท่านี้แหละ พระท่านเรียกว่าคาถาหัวใจเศรษฐี จำไว้นะ และต้องภาวนาวันละ ๒ ครั้ง ตอนเช้าครั้งหนึ่งและก่อนนอนอีกครั้งหนึ่ง”
          เขารีบทวนคำหลวงพ่อหลายครั้ง จนจำคาถา ๔ ตัวนั้นได้คล่องปาก แล้วถามว่า
          “สิ่งที่ผมต้องทำกำกับคาถามีอะไรบ้าง ครับหลวงพ่อ”
          “คาถานี้เป็นของพระพุทธเจ้านะ อุ. คือขยันทำมาหากิน อย่าเกียจคร้าน อา. คือต้องรักษาทรัพย์ที่หามาได้ อย่าให้แตกหักเสียหายก่อนเวลาอันควร ก. คือต้องคบเพื่อนที่ดีๆมีคู่ครองที่ดีๆ ส. คือต้องใช้จ่ายแต่พอดี ต้องรู้จักกินรู้จักใช้ อย่าให้สุลุ่ยสุร่ายเกินความจำเป็น คือต้องประหยัดนั้นแหละ ทำได้อย่างนี้จะเป็นเศรษฐีในไม่ช้า”
          เขารับปากว่าจะทำตามให้ได้แล้วกราบลาหลวงพ่อกลับบ้าน ก่อนนอนคืนนั้นเขาเริ่มภาวนาคาถา อุ.อา.ก.ส. หลายเที่ยว ตอนเช้าก็ภาวนาอีก เสร็จแล้วก็ไปทำงาน เขาเริ่มปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่กำกับคาถาแต่วันนั้น โดยเริ่มเก็บหอมรอบริบเงินทองไว้ ต่อมาไม่นานก็สามารถตั้งตัวได้ในที่สุด เมื่อมีเงินทุนมากแล้วก็ไปค้าขายในต่างถิ่นขยายสาขา ขยายกิจการไปทำอย่างอื่น จนกลายเป็นเศรษฐีได้ในที่สุด
          ธรรมดาว่าคนรวยนั้นย่อมจะมีคนมาห้อมล้อม แสดงตนว่าเป็นญาติเป็นมิตรโดยหวังจะอาศัยทรัพย์ของเขา เศรษฐีใหม่นั้นก็เช่นกัน เพื่อนฝูงญาติมิตรที่ตีจากสมัยยากจนเริ่มแวะเวียนไปมา เมื่อมาถึงต่างก็สรรเสริญเยินยอเศรษฐีต่างๆนาๆ แล้วก็ขออยู่อาศัยบ้าง ขอกู้ยืมไปใช้หนี้บ้าง ไปเป็นทุนบ้าง ไปรักษาโรคภัยไข้เจ็บบ้าง สุดแต่จะอ้างกัน เศรษฐีก็ใจดีให้ไปทุกราย ยิ่งเขามาสรรเสริญเยินยอว่า เป็นคนใจดีใจบุญ เศรษฐีก็ยิ่งปลื้มใจให้กู้ให้ยืมเงินทองอย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง จนเงินทองเริ่มร่อยหรอลง ฐานะเริ่มย่ำแย่ลง
          เศรษฐีมีคนใช้เก่าแก่อยู่คนหนึ่งซึ่งเป็นคนซื่อสัตย์ ทำงานกับเศรษฐีมานานจึงรู้เรื่องของเศรษฐีได้ดี แต่ไม่กล้าเตือนเศรษฐีเรื่องใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหมดเปลืองไปกับคำสรรเสริญป้อยอ ได้แต่รอโอกาสอยู่
          คราวหนึ่งเศรษฐีนัดญาติมิตรเพื่อนฝูงจำนวนมากมากินเลี้ยงกันที่บ้านเป็นเวลา ๒ วัน แล้วสั่งให้คนใช้คนนั้นจัดการเรื่องอาหารสำหรับเลี้ยงแขกโดยกำชับว่าให้จัดอาหารที่ดีที่สุด คนใช้เห็นเป็นโอกาสที่จะเตือนเศรษฐีจึงจัดเตรียมอาหารพิเศษสำหรับเลี้ยงแขก
          ก่อนเวลาเลี้ยง เขาสั่งให้คนลำเลียงอาหารมาตั้งไว้บนโต๊ะแล้วใช้ฝาชีปิดไว้ เมื่อถึงเวลาแขกเหรื่อก็พากันมาจำนวนมากพร้อมกันดีแล้ว เศรษฐีก็เริ่มเชิญให้ทุกคนเริ่มรับประทานอาหารกัน พอแขกเปิดฝาชีเห็นอาหารเข้าเท่านั้นก็พากันฮาครืน เพราะปรากฏว่าอาหารทุกอย่างปรุงมาจากลิ้นทั้งสิ้น ไม่ว่าแกง ซุป ต้ม ผัด ปิ้ง ล้วนเป็นลิ้นวัว ลิ้นแพะ ลิ้นแกะ และลิ้นสัตว์อื่นที่พอหาได้ในท้องตลาด เศรษฐีถึงกับสะดุ้ง อายก็อาย แต่ก็ลุกไปต่อว่าคนใช้ขณะนั้นไม่ได้ จำใจต้องเชิญแขกรับประทานไป
          พอส่งแขกกลับไปหมดแล้วเศรษฐีก็เรียกคนใช้ตัวแสบเข้ามาพบ แล้วถามว่า
          “บอกมาซิพ่อตัวดี ฉันสั่งให้ทำอาหารที่ดีที่สุดมาเลี้ยงแขก ทำไมมันมีแต่ลิ้นทั้งนั้น”
          “ลิ้นนี่แหละครับที่ดีที่สุด” คนใช้ตอบหน้าตาย
          “ดียังไงวะ ว่ามาซิ” เศรษฐีชักฉุน
          “ท่านเป็นเศรษฐีขึ้นมาได้ก็เพราะลิ้นหลวงพ่อใช่ไหมครับ ถ้าหลวงพ่อไม่พูดสอนท่าน ท่านจะได้เป็นเศรษฐีหรือ แสดงว่าลิ้นนี่ดีที่สุดใช่ไหมครับ”
          เศรษฐีต้องจำนนด้วยเหตุผลของเขา แต่เพื่อเป็นการแก้มือเศรษฐีจึงสั่งเขาอีก
          “พรุ่งนี้จะมีเลี้ยงอีกวัน คราวนี้ขอให้จัดอาหารที่เลวที่สุดมาเลี้ยงแขก”
          เขารับคำแล้วก็ไปจัดเตรียมอาหารตามที่เศรษฐีสั่ง พอถึงเวลาแขกก็พากันมาเหมือนเมื่อวาน และพอเปิดฝาชีดูก็พบอาหารแบบเดิม คือมีแต่ลิ้นล้วนๆทำเอาฮาครืนกันอีก เศรษฐีอายก็อายฉุนคนใช้ก็ฉุน แต่ก็อดทนรอจนส่งแขกกลับหมดแล้วก็รีบไปไล่เบี้ยคนใช้
          “พ่อตัวดี ทำฉันขายหน้าอีกจนได้ ไหนแกบอกว่าลิ้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่วันนี้ฉันสั่งอาหารที่เลวที่สุดมาเลี้ยงแขก ทำไมแกจึงปรุงลิ้นมาเลี้ยงแขกอีก”
          “ท่านครับ ลิ้นนี่แหละเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และเป็นสิ่งที่เลวที่สุดละครับ”
          คนใช้ตอบอย่างฉะฉาน เพราะเป็นโอกาสได้เตือนเศรษฐีแล้ว
          “ไหนว่ามาซิ ลิ้นดีที่สุดอย่างไร เลวที่สุดอย่างไร”
          “ท่านครับ ท่านได้ดีเพราะลิ้นของหลวงพ่อ แต่วันนี้ท่านกำลังวิบัติล่มจม เพราะลิ้นของญาติมิตรเพื่อนฝูงซึ่งต่างก็มาเยินยอท่าน ท่านเองก็หลงลิ้นประจบกินของคนเหล่านั้นจึงหว่านเงินทองให้พวกเขาอย่างไม่เสียดาย ลิ้นของพวกเขากำลังทำให้ท่านหมดตัว ท่านเห็นว่าลิ้นไม่เลวที่สุดอย่างที่ผมว่าหรือครับ” คนใช้ร่ายยาวแล้วย้อนถาม
          เศรษฐียืนฟังนิ่งจนเขาพูดจบ ตัวแข็งทื่อ ได้สติหูตาสว่างขึ้นมาถึงกับทรุดตัวลงไปกอดคนใช้แล้วร้องไห้โฮออกมาอย่างไม่อาย
        เศรษฐีรอดตัว พ้นจากความล่มจมหมดเนื้อหมดตัวไปได้ด้วยลิ้นของคนใช้ชั้นสูงทีเดียว.

           เรื่องนี้สื่อความได้ว่า :...
          ยามมั่งมีเงินทอง
          คนที่แสดงตัวว่าเป็นพวกพ้องเป็นเพื่อนย่อมมีมาก
          ในยามจนคนเหล่านั้นก็จะตีจากไม่ยอมรับความเป็นพวกเป็นเพื่อน
          นี่เป็นธรรมดาของโลก
          ผู้มั่งมีจึงต้องระวังตัวไว้ ตั้งสติให้ดี คำประจบ คำเยินยอ คำสรรเสริญ ส่วนใหญ่มักเคลือบด้วยยาพิษทั้งสิ้น ต้องหนักแน่น ฟังหูไว้หู ดูให้แน่ใจ ใคร่ครวญจนแน่ใจว่าผู้พูดนั้นเป็นมิตรแท้ เป็นผู้ไม่เคยทอดทิ้งตนมาในยามจนและในยามมั่งมี จึงค่อยคบหาสนิทสนมไว้วางใจ นอกนั้นควรคบหาแค่ผิวเผิน แต่ไม่ควรตัดไมตรีเสียทีเดียว พูดจาพาทีด้วย ช่วยเหลือกันตามอัตภาพ
          ลิ้นคนนั้น เชื่อได้บ้าง ไม่ได้บ้าง
          คนที่เชื่อลิ้นของคนอื่นโดยง่ายนั้น
          เสียใจเสียตัว และหมดตัว หมดพวก มาเสียมากต่อมากแล้ว.

ที่มา หนังสือ กิร ดังได้สดับมา
ผู้แต่ง พระธรรมกิตติวงศ์(ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต)

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ธรรมโอสถ


          ชายหนุ่มคนหนึ่งคิดว่า พระพุทธศาสนาต้องมีดีอะไรแน่นอน ไม่อย่างนั้นผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหลายคงจะไม่ทำบุญให้ทานใส่บาตรพระสงฆ์ได้ทุกวัน จึงอยากได้อะไรดีๆจากพระพุทธศาสนาบ้าง เขาขอสมัครเข้าไปบวชเป็นพระอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง
          หลังจากบวชแล้ว เขาก็ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนธรรมะและสอบได้ถึงนักธรรมชั้นเอกซึ่งเป็นชั้นสูงสุด หลังจากนั้นได้พยายามท่องพระปาฏิโมกข์จนจำได้คล่องแคล่ว และอ่านหนังสือพระไตรปิฎกจนจบ ๔๕ เล่ม บางเล่มอ่านหลายเที่ยว เพราะเป็นคนขยันเอาจริงเอาจัง เขาบวชได้ ๘ พรรษาก็ขอลาสึก
          หลังจากสึกแล้วก็ไปมีครอบครัวทำมาหากินเหมือนคนทั่วไป แต่ไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ยังตั้งตัวไม่ได้
          หลายปีผ่านไปก็ไม่ทำให้เขาดีขึ้น เขาจึงคิดว่าธรรมะที่เขาได้เรียนมาไม่ได้ช่วยอะไรเขาเลย
          วันหนึ่งเขาไปหาหลวงพ่อที่วัด แล้วบอกท่านว่า
          “หลวงพ่อครับ ธรรมะในพระพุทธศาสนานี่ ผมเห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไร ผมศึกษาเล่าเรียนจนรู้เรื่องตลอด แต่ก็ไม่ช่วยให้ผมดีขึ้นได้เลย ผมยังตั้งตัวไม่ได้จนเดี๋ยวนี้”
          หลวงพ่อฟังแล้วได้แต่ยิ้มๆไม่ต่อความอะไร และไม่ได้อธิบายไขข้อข้องใจให้เขาฟัง ด้วยเห็นว่าเขาเรียนมามากแล้ว เขาเห็นว่าหลวงพ่อนิ่งเฉยอยู่จึงลากลับบ้าน
          ต่อมาไม่กี่วันหลวงพ่อไม่สบาย เป็นหวัดและไอเจ็บคอมาก จึงให้เด็กวัดไปตามทิดคนนั้นมาและเล่าอาการให้ฟัง ทั้งขอให้ไปซื้อยาแก้ไอให้หน่อย
          เขารับปากหลวง แล้วก็ไปตลาดซื้อยาแก้ไอมาถวายหลวงพ่อ หลังจากนั้นอีก ๒-๓ วันเขาเข้าไปหาหลวงพ่ออีกเพื่อถามอาการ
          “เป็นไงบ้างครับหลวงพ่อ หายดีแล้วหรือยัง”
          “ยังไม่หายเลยดูเหมือนจะหนักกว่าเก่าเสียด้วย” หลวงพ่อตอบเสียงแหบๆและไอโขลกๆแล้วเสริมว่า “สงสัยจะซื้อยาผิดมาจึงไม่ได้ผล”
          เขาหยิบขวดยามาดูให้แน่ใจ มันก็เป็นยาแก้ไอ ฉลากยาก็บอกว่ายาแก้ไอ แก้เจ็บคอ ขับเสมหะ
          เขาจึงถามหลวงพ่อว่า
          “หลวงพ่อไม่ได้อ่านฉลากยาหรือครับ”
          “อ่านสิ อ่านหลายครั้ง อ่านจนท่องจำได้ว่าแก้ไอ แก้เจ็บคอ ขับเสมหะ”
          “อ้าวแล้วทำไมหลวงพ่อยังไม่หายล่ะครับ”
          “ฉันไม่ได้กินมัน ฉ นแค่อ่านฉลากอย่างเดียว” หลวงพ่อตอบหน้าตาเฉย
          เขาชักฉุนหลวงพ่อ เลยต่อว่าไปว่า
          “โธ่หลวงพ่อ ยานี่แค่อ่านฉลากอย่างเดียวแต่ไม่ได้กิน มันจะรักษาโรคให้หายอย่างไรกัน หลวงพ่อก็”
          “เออจริงของเอ็ง ไหนส่งยามาให้ซิ”
          หลวงพ่อตอบแล้วเปิดขวดยาที่เขาส่งให้ ยกขึ้นจิบนิดหนึ่งแล้วพูดว่า
ธรรมะโอสถ
          “ธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็เหมือนยาแก้ไอขวดนี้นั้นแหละ ไอ้ทิดเอ๊ย อ่านแต่ธรรมะที่อยู่ในตำราพระไตรปิฏก แต่ไม่ได้เอาปฏิบัติตาม ก็แก้ทุกข์แก้จนให้ไม่ได้หรอก เหมือนอ่านแค่ฉลากยาจะทำให้หายโรคได้อย่างไรกัน จริงไหมเล่า”
          เขาไม่ตอบหลวงพ่อแต่ตาสว่างขึ้นมาทันที.

เรื่องนี้สื่อความได้ว่า :…
 ธรรมะในพระพุทธศาสนาทุกข้อมีประโยชน์
คือ เป็นธรรมะโอสถ เป็นยาแก้ทุกข์ เป็นเครื่องกำจัดทุกข์
แต่เพียงเรียนรู้ว่าธรรมะข้อนั้นๆมีความหมายว่าอย่างนี้
มีประโยชน์อย่างนี้ และควรปฏิบัติอย่างนี้เท่านั้น
หาได้แก้ทุกข์และกำจัดทุกข์ให้ได้ไม่
ต้องนำความรู้นั้นๆไปปฏิบัติตาม
อย่างถูกต้อง จริงจัง และต่อเนื่อง จึงจะสมผลประโยชน์
เหมือนแค่อ่านฉลากยา แต่ไม่รับประทานยา
ก็ไม่อาจทำให้หายโรคได้ ฉะนั้น

เรื่องนี้สื่อความได้ว่า :…
          การเรียนรู้ธรรมะเป็นเพียงทำให้รู้จักและเข้าใจธรรมะเท่านั้น แต่การเข้าถึงธรรมะด้วยการปฏิบัติตามที่เรียนรู้มานั้นต่างหาก ที่จะได้รับผลอันเป็นแก่นเป็นสาระแห่งธรรมะอย่างแท้จริง คือทำให้พ้นทุกข์ได้ ทำให้ไม่ยากจนได้ ทำให้อยู่ดีมีสุขได้ เป็นต้น
          ดังมีท่านผู้รู้เขียนคำคมให้คิดไว้ว่า
          “ ธรรมใดๆก็ไร้ค่าถ้าไม่ทำ”
จึงหากรู้ธรรมะมากมายแล้วแต่ยังไม่หมดทุกข์
ยังลำบากยากเข็ญอยู่ ยังไม่มีความสุขอยู่
ก็อย่าพึ่งด่วนตัดสินว่า
ธรรมะไม่ดี ไม่มีประโยชน์
เพราะอาจเพียงแค่รู้ฉลากยา แต่ไม่เคยบริโภคยาก็เป็นได้.
ที่มา หนังสือ กิร ดังได้สดับมา
ผู้แต่ง พระธรรมกิตติวงศ์(ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต)

วันอังคารที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เลี้ยงลูกด้วยลูกยอ


       สามีภรรยาคู่หนึ่ง ช่วยกันทำมาหากินจนมีฐานะค่อนข้างดีและช่วยกันเลี้ยงลูกชายหัวแก้วหัวแหวนคนเดียวอย่างถะนุถนอมตั้งใจไว้ว่าโตขึ้นจะให้เป็นหมอ จึงพยายามหาวิธีให้ลูกเรียนเก่งๆจะได้เรียนเป็นหมออย่างที่ต้องการ โดยหาการ์ตูนบ้าง นิทานสนุกๆบ้าง วารสารทางวิชาการบ้าง นิตยสารบ้าง มาวางไว้ตรงนั้นตรงนี้เพื่อฝึกให้ลูกรักการอ่าน เขาชอบอ่านอะไรก็พยายามหามาให้อ่าน จนกระทั่งลูกติดนิสัยรักการอ่าน ทำอย่างนี้จนลูกเข้าเรียนมัธยม
          วันหนึ่งมีเพื่อนของพ่อมาเยี่ยมที่บ้าน เพื่อนถามถึงลูกชาย พ่อรู้อยู่ว่าลูกชายอยู่ในห้องใกล้ๆและกำลังเล่นอะไรเพลินอยู่ จึงตอบเสียงดังพอทึ่ลูกที่อยู่ในห้องจะได้ยินว่า
          “คงอยู่ในห้องมั้ง ลูกคนนี้เขาเก่งชอบอ่านหนังสือ ท่าทางจะเรียนหมอ เขาไม่ชอบไปสุงสิงกับใคร ไม่ชอบเที่ยวเตร่ แม่เขางี้ภูมิใจลูกคนนี้นักหนา ไอ้เราก็พลอยปลื้มไปด้วยที่จะได้เห็นลูกเป็นหมอกับเขาสักคน”
          ลูกชายที่อยู่ในห้องได้ยินพ่อพูดอย่างนั้นก็พลอยตื่นเต้นไปด้วย
          “นี่คุณพ่อคุณแม่ของเราคงอยากให้เราเป็นหมอแน่นอน เราท่าจะขี้เกียจและเอาแต่เล่นไม่ได้เสียแล้ว ไม่งั้นคุณแพ่อคุณแม่จะเสียใจแย่” เขาคิดด้วยสำนึกที่ดี
          ต่อมาเพื่อนของแม่มาหา แม่ก็พูดชมลูกของตนต่อหน้าเพื่อนไม่ขาดปาก
          “นี่เธอรู้ไหม ลูกของฉันคนนี้คงไม่ทำให้ฉันผิดหวังแน่ๆ เขาเป็นเด็กดีเชื่อฟังพ่อแม่ ฉันงี้สบายใจจริงๆที่มีลูกคนนี้”
          เพื่อนได้ฟังก็พลอยยินดีไปด้วยและหันมาชื่นชมลูกของเพื่อน
          “ให้มันได้อย่างนี้สิหลานฉัน ฉันจะคอยดูหลานเป็นหมอ เผื่อฉันเจ็บป่วยจะได้อาศัยให้ช่วยดูแล ขยันอย่างนี้ เรียนเก่งอย่างนี้ต้องเรียนหมอจบได้แน่ๆ”
          ลูกได้ยินคำยกย่องเยินยอจากปากพ่อแม่อย่างนี้เป็นประจำ แทนที่จะทำให้อึดอัดคับข้องใจเพราะตนไม่อยากเป็นหมอ แต่กลับเป็นเข็มทิศให้ตนตัดสินใจที่จะเรียนหมอให้ได้ตามที่พ่อแม่ต้องการ แล้วในที่สุดก็สามารถสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยและเรียนจบเป็นแพทย์ได้ ซึ่งนำความปลาบปลื้มให้แก่พ่อแม่ญาติพี่น้องยิ่งนัก.
          เรื่องนี้สื่อความได้ว่า :…
          การต้องการให้ลูกเป็นอย่างไรมิใช่สำเร็จได้เพียงแค่ต้องการเท่านั้น
          แต่วิธีการที่จะให้ลูกเป็นตามที่ต้องการต่างหากที่สำคัญกว่าทุกอย่าง
          การปลูกฝังบ่มเพาะความต้องการของตนให้เจริญเติบโตอยู่ในความคิดของลูกอย่างฉลาด การหาอุบายให้ลูกซึมซับความรู้สึกของตนไปทีละเล็กละน้อยด้วยคำพูดบ้าง ด้วยกิริยาอาการบ้าง ด้วยการชมเชยหรือให้รางวัลเมื่อเขาได้รับความสำเร็จในการเรียนบ้าง ด้วยการให้กำลังใจ หรือปลอบใจเมื่อเขาได้คะแนนต่ำในบางวิชาบ้าง ล้วนเป็นเครื่องกระตุ้นให้ลูกเป็นอย่างที่ต้องการได้ทั้งสิ้น
          ส่วนการบังคับเคี่ยวเข็ญ การดุด่า การดูถูกดูแคลน การยกเด็กอื่นมาข่มลูกตัวเองเป็นต้น ล้วนแต่เป็นเครื่องบั่นทอนจิตใจลูก และทำให้คิดต้านไม่อยากทำตามที่พ่อแม่ต้องการ
การใช้ “ลูกยอ” กับลูกนั้นไม่ต้องกลัวลูกจะเหลิง
ขอเพียงใช้ให้เป็น ใช้ให้ถูกกาลเทศะ ไม่พร่ำเพรื่อ
และใช้ให้สมจริงสมจังเท่านั้น เป็นได้ผลทุกรายไป.

ที่มา หนังสือ กิร ดังได้สดับมา
ผู้แต่ง พระธรรมกิตติวงศ์(ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต)

วันจันทร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เต่าเหาะ


เต่าตัวหนึ่งอาศัยอยู่ที่บึงแห่งหนึ่งแถบภูเขาหิมพานต์ ลูกหงส์สองตัวอาศัยอยู่ที่ถ้ำทองเชิงเขาจิตรกูฏ พวกมันชอบบินไปหากินไกลๆ จนไปถึงบึงนั้น เต่าและหงส์ได้พบกันและสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว หงส์ทั้งคู่ได้บินไปหาเต่าอยู่เนืองๆ วันหนึ่งได้ชวนเต่าว่า
“นี่เพื่อน ที่ถ้ำทองของเราสวยงามน่ารื่นรมย์มากนะ เราอยากจะพาเพื่อนไปดู อยู่แต่ในบึงเห็นแต่น้ำกับปลา ถ้าเพื่อนได้ไปถึงถ้ำบนภูเขาสูงๆ ท่านจะชอบใจ”
เต่าเกิดความสนใจจึงถามไปว่า “แล้วเราจะไปได้อย่างไรเล่าเพื่อน”
“ไม่ยากหรอกเพื่อน พวกเราจะพาท่านไปเอง โดยให้ท่านคาบตรงกลางไม้ไว้ให้แน่นส่วนพวกเราจะคาบหัวท้ายพาเพื่อนบินไปยังถ้ำของเรา ไม่นานนักก็จะถึง”
เต่าก็ตกลงไปเที่ยวถ้ำทอง หงส์ทั้งสองจึงบินไปคาบไม้อันหนึ่งมาวางตรงหน้าเต่าแล้วสั่งกำชับว่า
“ในขณะที่เราพาเพื่อนไปขอให้เพื่อนอย่าอ้าปากเป็นเด็ดขาดให้คาบไม้ไว้ให้แน่น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็อย่าอ้าปาก ขอให้เพื่อนจำไว้นะ”
“แค่นี้เองหรือเพื่อน เรื่องเล็ก ไม่ต้องห่วงหรอก” เต่ารับคำอย่างหนักแน่น
หงส์ทั้งสองจึงให้เต่าคาบตรงกลางไม้ ส่วนตัวเองก็คาบด้านหัวกับด้านท้าย พร้อมแล้วก็ให้สัญญาณบินขึ้นพร้อมกัน หงส์ทั้งคู่เหินฟ้าพาเต่าห้อยต่องแต่งอยู่บนอากาศ แต่บินไม่สูงนักเพราะเกรงว่าเต่าจะกลัวและข้างบนลมแรง บินไปได้สักพักหนึ่งก็ผ่านหมู่บ้านเชิงเขาแห่งหนึ่ง ที่ลานบ้านมีเด็กวิ่งเล่นกันอยู่หลายคน เมื่อเด็กๆเห็นหงส์บินมาแต่ไกลและมีเต่าห้อยอยู่ตรงกลางก็ตื่นเต้นเพราะไม่เคยเห็น จึงตะโกนบอกกันพร้อมกับตบมือหัวเราะชอบใจ
“เต่าเหาะ พวกเรามาดูเต่าเหาะกันเร็ว”
เต่ามองลงมาเห็นอาการของพวกเด็กๆและได้ยินเสียงร้องตะโกนว่าเต่าเหาะๆ จึงคิดว่าการที่หงส์คาบคอนไม้ที่เราคาบอยู่บินไปบนฟ้ามันหนักหัวพวกเด็กเหล่านี้หรืออย่างไร คิดไม่คิดเปล่ากลับโกรธเด็กไปด้วย เมื่อความโกรธเกิดขึ้นก็ทำให้ลืมคำเตือนของหงส์เสียสิ้น เลยลืมตัวตะโกนด่าลงไปว่า
“ได้เด็กเปรต”
เพียงคำแรกเท่านั้นปากเต่าก็อ้าออกและหลุดจากคอนไม้ ตัวมันก็เลยลอยละล่องลงมาเหมือนเหาะได้จริงๆ ไม่ถึงอึดใจมันก็ตกลงถึงพื้นกระดองแตกตายคาที่ ส่วนหงส์ได้ยินเสียงเพื่อนด่าเด็กร่วงลงไปแล้วก็ไม่คิดที่จะบินลงไปดูอาการของเพื่อนเพราะเดาได้ว่าไม่มีทางรอดแน่นอน จึงทิ้งไม้แล้วบินกลับไปยังถิ่นของตน. 

เรื่องนี้สื่อความให้เห็นว่า 

ปากของคนมีไว้เพื่อทำหน้าที่หลัก ๒ อย่างคือกินกับ พูด และอวัยวะส่วนนี้มิใช่ว่าจะให้คุณอย่างเดียว หากแต่สามารถนำอันตราย ความวิบัติ และทุกข์โทษมาให้เจ้าของได้มากมาย ถึงกับทำให้ตกนรกหมกไหม้ก็ได้หากไม่สำรวมไม่ระวังปากของตน โดยเฉพาะไม่ระวังในเวลาอ้าปากพูด มีคำสอนคำเตือนที่ให้ระวังปากระวังคำพูดไว้มาก ซึ่งล้วนเป็นเครื่องเตือนสติมิให้พูดคำที่เสียหาย เช่นพูดโกหกมดเท็จ พูดปั้นน้ำเป็นตัว พูดจาส่อเสียด พูดให้คนทะเลาะแตกแยกกัน พูดหยาบคายไม่น่าฟัง พูดมากแต่ไร้สาระ เป็นต้น คนที่ระวังปากสำรวมคำ พูดแต่คำจริงคำแท้ พูดน้อยแต่ได้สาระ พูดไพเราะน่าฟัง หรือพูดให้คนรักกันสามัคคีกัน ย่อมเป็นคนมีเสน่ห์ ส่วนคนที่ไม่ระวังปากระวังคำและคนที่เข้าข่ายเรียกว่า “คนปากเสีย” ย่อมมีเสนียดติดตัว หาเรื่องใส่ตัวร่ำไป หรือไม่ก็กลายเป็นคนไม่น่าเชื่อถือ พูดอะไรก็ไม่มีคนฟัง เพราะคำพูดไม่มีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือ แม้พูดจริงคนก็คิดว่าโกหก ปากนั้นพาให้จนก็ได้ พาให้ตัวตายก็ได้ ท่านจึงว่าระวังปากระวังคำไว้ให้เป็นดี. 

ที่มา หนังสือ กิร ดังได้สดับมา เล่ม ๓
ผู้แต่ง พระธรรมกิตติวงศ์(ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต)

เหตุปัจจัย ๘ ประการนี้ทำให้แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง


พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า    “อานนท์    เหตุปัจจัย    ๘    ประการนี้ทำให้แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง

เหตุปัจจัย    ๘    ประการ    อะไรบ้าง    คือ

                       ๑.    มหาปฐพีนี้ตั้งอยู่บนน้ำ    น้ำตั้งอยู่บนลม    ลมตั้งอยู่บนอากาศ    เวลาที่ลมพายุพัดแรงย่อมทำให้น้ำกระเพื่อม    น้ำที่กระเพื่อมย่อมทำให้แผ่นดินไหวตาม    นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่    ๑    ที่ทำให้แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง

                       ๒.    สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์    เชี่ยวชาญทางจิต    หรือเหล่าเทวดาผู้มีฤทธิ์มาก    มีอานุภาพมากได้เจริญปฐวีสัญญานิดหน่อย    แต่เจริญอาโปสัญญาจนหาประมาณมิได้    จึงทำให้แผ่นดินนี้ไหวสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น    นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่    ๒    ที่ทำให้แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง

                       ๓.    คราวที่พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะจุติจากภพดุสิต    เสด็จสู่พระครรภ์ของพระมารดา    แผ่นดินนี้ก็ไหวสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น    นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่    ๓    ที่ทำให้แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง


                       ๔.    คราวที่พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ    ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา    แผ่นดินนี้ก็ไหวสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น    นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่    ๔    ที่ทำให้แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
                      
                      ๕.    คราวที่ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ    แผ่นดินนี้ก็ไหวสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น    นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่    ๕    ที่ทำให้แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง

                       ๖.    คราวที่ตถาคตประกาศธรรมจักรอันยอดเยี่ยมให้เป็นไป    แผ่นดินนี้ก็ไหวสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น    นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่    ๖    ที่ทำให้แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง

                       ๗.    คราวที่ตถาคตมีสติสัมปชัญญะปลงอายุสังขาร    แผ่นดินนี้ก็ไหวสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น    นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่    ๗    ที่ทำให้แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง

                       ๘.    คราวที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ    แผ่นดินนี้ก็ไหวสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น    นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่    ๘    ที่ทำให้แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง

           อานนท์    เหตุปัจจัย    ๘    ประการนี้แล    ที่ทำให้แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง”

พุทธพจน์ (ภูมิจาลสูตร  เล่มที่ 23/ข้อ 70 /หน้า372) พระไตรปิฎก มจร

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ธรรมะวันแรงงานแห่งชาติ

สิงคาลกสูตร
ทิศ 6 ทิศเบื้องล่าง (เหฎฐิมทิศ)

ได้แก่ นายจ้าง - ลูกจ้าง หน้าที่ของผู้เป็นนายหรือผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้เป็นลูกจ้าง มีดังนี้

หน้าที่ของนายจ้างหน้าที่ของลูกจ้าง
1 จัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง1. ลุกขึ้นทำงานก่อนนายจ้าง
2.ให้อาหาร รางวัล2. เลิกงานทีหลังนายจ้าง
3. รักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้3. ถือเอาแต่ของที่นายจ้างให้
4. ให้สิ่งของหรือส่งเสริมให้มีการพัฒนาใหม่ ๆ4.ทำงานที่ได้รับมอบหมายจนแล้วเสร็จ
5.ให้พักผ่อนหยุดงานในบางโอกาส5. ยกย่องในคุณความดีของนายจ้าง